5 ข้อดีของ Social Listening Tools เครื่องมือจัดการ Data ที่จะทำให้การทำการตลาดในธุรกิจของคุณมีคุณภาพมากยิ่งขึ้น จากความเปลี่ยนแปลงในยุคปัจจุบันที่ไม่ว่าธุรกิจแบบไหนก็ต่างหันมาใช้ Data ในการประกอบการมากยิ่งขึ้น เพราะด้วยความต้องการของผู้คนที่เปลี่ยนไปทำให้ไม่อาจใช้ความรู้สึกคาดเดาความต้องการแบบแต่ก่อนได้อีกต่อไป
และดูเหมือนว่าความสามารถในการจัดการ Data หรือแม้แต่การวิเคราะห์ก็กลายเป็นสิ่งที่ไม่ว่าจะองค์กรไหนก็ต้องการทั้งนั้น แต่ไม่ว่าคนๆ นั้น จะเซียนเรื่องข้อมูลมากขนาดไหนก็ไม่อาจจัดการเรียบเรียงหรือวิเคราะห์ข้อมูลทั้งหมดได้แน่นอน เพราะถ้าทำได้คนๆ นั้นคงยิ่งกว่าสมองกลจาวิสของ ไอรอนแมนแน่ๆ
ฉะนั้นวันนี้แอดขอแนะนำ Social Listening จะเรียกว่าเป็นเครื่องมือที่ช่วยจัดการ Data ต่างๆ เพื่อให้นักการตลาดหรือคนทำงานที่เกี่ยวข้องกับ Data ได้วิเคราะห์ข้อมูลได้อย่างสะดวกและตรงจุดมากยิ่งขึ้น เครื่องมือนี้คืออะไรและมีความสำคัญอย่างไร ลองไปดูกันเลยจ้า
Social Listening คือ?
Social Listening มีอีกชื่อเรียกว่า Social Monitoring เป็นเครื่องมือที่จะใช้ติดตาม แบรนด์, สินค้า, การบริการ, หรือแม้แต่คอนเทนต์ ว่าผู้คนที่ได้เห็นนั้นมีความคิดเห็นอย่างไรบ้างกับสิ่งเหล่านี้ ในช่องทาง Social Media ต่างๆ
โดยสิ่งที่เราจะได้จาก Social Listening ก็คือความคิดเห็นเชิงความรู้สึกในรูปแบบ Positive (ความคิดเห็นเชิงบวก) และ Negative (ความคิดเห็นเชิงลบ) ที่มีต่อ Keyword ในแบรนด์ของเราหรือแบรนด์ที่เราทำการตลาดให้
จุดประสงค์ของการใช้ Social Listening
โดยข้อมูลความคิดเห็นต่อ Keyword ทั้งหมด ล้วนแต่มีประโยชน์เพื่อตอบสนองจุดประสงค์ในการทำ Crisis Management (การจัดการวิกฤติ) หรือการมองหาว่ามี Demand (ความต้องการ) อยู่ที่ไหน มี Insight ตรงไหน เพื่อจะได้นำมาทำการตลาดได้อย่างตรงจุดและมีประสิทธิภาพมากขึ้น
ซึ่งหากมองกันจริงๆ แล้วนี้คือเครื่องมือที่สามารถทำให้นักการตลาดได้รับข้อมูลที่จะนำมาวิเคราะห์ต่อว่า ควรจะทำการตลาดแบบไหนดี และควรส่งคอนเทนต์เหล่านั้นไปยังกลุ่มเป้าหมายไหน กลุ่มไหนที่มีความคิดเห็นเชิงบวกก็จะตอบสนองต่อเรื่องเหล่านั้นได้ดี กลุ่มไหนที่มีความคิดเห็นเชิงลบ ก็นำคำติเหล่านั้นมาวิเคราะห์และแก้ไขการสื่อสารได้อย่างตรงจุด
ซึ่งหากจะลองแบ่งประโยชน์ที่ได้จากการทำ Social Listening จริงๆ แล้วก็สามารถแบ่งออกได้เป็น 5 ข้อดังนี้
1. สะดวกในการรวบรวมข้อมูลของกลุ่มเป้าหมาย
Social Listening สามารถเข้าถึงความคิดเห็นและความต้องการของผู้คนได้โดยที่ไม่ต้องออกไปทำ Research ให้เหนื่อย อีกทั้งข้อมูลเหล่านั้นยังมีความน่าเชื่อถือมากพอที่จะนำมาใช้วิเคราะห์ความต้องการของกลุ่มเป้าหมายได้อย่างตรงจุด
2. รู้เท่าทันความสนใจของผู้คนในช่วงเวลาต่างๆ
ทุกวันนี้ที่ข่าวสารและความสนใจของผู้คนล้วนตามหาได้ง่ายจากในโลกโซเชียล แต่ในกระแสข้อมูลที่เยอะขนาดนั้นคุณจะรู้ได้อย่างไรว่าเรื่องไหนที่ผู้คนส่วนใหญ่ให้ความสนใจในเชิงบวก เจ้า Social Listening สามารถค้นหาข้อมูลเชิงบวกเหล่านั้นได้
หลังจากที่ได้ความสนใจของผู้คนส่วนใหญ่แล้ว เราก็สามารถนำข้อมูลเหล่านั้นมาผนวกเข้ากับแบรนด์, สินค้า, หรือแม้แต่คอนเทนต์ของเรา ให้มีทิศทางการสื่อสารที่คล้ายๆ กับสิ่งที่ผู้คนสนใจ จนทำให้คอนเทนต์ของเรามีผลตอบรับที่ดีได้เช่นกัน
3. สามารถวัดผลแคมเปญหรือคอนเทนต์ของเราได้
ในส่วนนี้ก็คือเมื่อเราทำคอนเทนต์การตลาดปล่อยออกไป เราสามารถที่จะใช้ Social Listening ในการติดตามผลตอบรับของผู้คนได้ ว่าพวกเขามีความคิดเห็นอย่างไรกับคอนเทนต์หรือแคมเปญของเรา ทั้งความคิดเห็นเชิงบวกและลบ จากนั้นเราก็จะนำข้อมูลดังกล่าวมาปรับปรุงและหาแนวทางในคอนเทนต์หรือแคมเปญต่อไปได้
4. รู้ช่องทางการสื่อสารไปยังกลุ่มเป้าหมายของตัวเอง
เมื่อเรารู้ข้อมูลความคิดเห็นต่างๆ แล้ว ทำให้เราได้รู้อีกด้วยว่ากลุ่มเป้าหมายของเราเป็นใคร และอยู่ที่ไหนอีกด้วย ฉะนั้นหากเราเก็บข้อมูลเหล่านี้และสามารถวิเคราะห์ได้ดีมากพอ ก็จะเพิ่มประสิทธิภาพในการสื่อสารของเราให้ถูกจุดมากยิ่งขึ้น
5. เข้าถึงผู้สนับสนุนได้ง่ายขึ้น
ไม่ว่าจะเป็นสินค้าหรือแบรนด์ไหนก็ตาม จะต้องมีคนที่ชื่นชอบสิ่งเหล่านั้นอยู่เสมอซึ่งแอดก็ได้อธิบายไปแล้วว่าคนเหล่านี้ก็คือ ‘กลุ่มเป้าหมาย’ แต่ก็จะมีกลุ่มเป้าหมายอีกประเภทที่เราไม่ควรมองข้าม หรือก็คื อเหล่าคนที่มีอิทธิพลในโลกออนไลน์หรือก็คือ Influencer ไปจนถึงคนดังต่างๆ
ซึ่งหากเราสามารถใช้ข้อมูลของ Social Listening ได้อย่างเชี่ยวชาญ ก็เป็นไปได้ว่าเราจะส่งการสื่อสารไปยังคนพวกนี้และอาจทำให้เกิดการบอกต่อจากความชอบในแบรนด์ของพกวเขา นับว่าเป็นการตลาดที่ได้ผลลัพธ์ 2 ต่อเลยทีเดียว
และทั้งหมดนี้ก็คือความหมายของเครื่องมือที่เรียกว่า Social Listening และประโยชน์ที่คุณจะได้รับจากสิ่งนี้ ซึ่งความจริงแล้วเครื่องมือเหล่านี้มองยังไงมันก็เป็นเพียงเครื่องมือที่จะช่วยให้เราได้ Data ที่ต้องการมาเท่านั้น
สิ่งสำคัญยิ่งกว่าเครื่องมือเหล่านี้ก็คือ ‘ความสามารถในการวิเคราะห์’ ของคน การเลือกกลุ่มเป้าหมายหรือการคาดการณ์ความต้องการต่างๆ ไม่ใช่สิ่งที่เครื่องมือสามารถตอบเราได้อย่าง 100% เพราะมนุษย์คือสิ่งมีชีวิตที่ไม่สามารถคาดเดาได้
จากที่แอดได้เรียนรู้มาเลยคิดว่าเราจำเป็นที่จะต้องพัฒนาตัวเองทั้งเรื่องของการวิเคราะห์และการใช้งานเครื่องมือต่างๆ อยู่ตลอดเวลา ให้เหมาสมกับโลกที่เปลี่ยนไป แต่จงอย่าลืมสิ่งสำคัญข้อหนึ่งซึ่งเป็นความจริงที่แม้แต่เครื่องมือก็ไม่อาจเอาชนะเราได้ก็คือ “เครื่องมือที่ทรงพลังมากที่สุดก็คือตัวเรา”